ฟังก่อนสิครับ แล้วค่อยพูด

เวลาไปกินข้าวกับเพื่อนฝูงทีไร ด้วยความที่ไม่ค่อยได้เจอกัน ก็ทำให้เราได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน เหมือนทุกคนอัดอั้นอยากระบาย อยากปล่อยของก็เลย พยายามพูดใส่กัน พอพูดใส่กันเรื่อยๆ เริ่มเสียงดังขึ้นจนจะกลายเป็นอีโก้ ข้ารู้มากกว่า ข้าเก่งมากกว่า มึงฟังกูก่อนสิ จนทะเลาะกัน
เวลาเป็นหัวหน้าคนนายคน พอถึงเวลาประชุมทีไร หัวหน้าก็พูดจนเหมือนพูดอยู่คนเดียว แม้บางทีจะให้โอกาสลูกน้องแสดงความคิดเห็น แต่พอลูกน้องพูดมาคำนึง หัวหน้าก็พูดต่อแสดงเก่งกว่า เข้าใจมากกว่า ชี้แนวได้มากกว่า จนลูกน้องระอาไม่อยากแสดงความคิดเห็น มีอะไรก็เออออไปจะได้จบๆแล้วกลับไปทำงานต่อ ส่วนหัวหน้าก็อาจจะดีใจว่าลูกน้องเข้าใจ หรือบ่นในใจว่าลูกน้องนี้โง่ ไม่แสดงความคิดเห็นอะไร
เวลาเป็นผู้ใหญ่พูดกับเด็ก ดูเหมือนเพราะตัวเป็นผู้อาวุโสกว่า ก็พูดๆ สอนๆ พร่ำบอกว่าตัวเองผ่านอะไรมา ก็ไม่ปล่อยให้เด็กได้แสดงความคิดเห็น หรือแสดงความคิดเห็นมานิดหน่อย ก็ไปตำหนิ เหมารวมๆว่า คนสมัยนี้ แล้วแบบนี้เด็กอยากจะมาคุยด้วยเหรอครับ

ความเป็นคนเป็น หรือเป็นคนที่ได้ผ่านการขัดเกลา มันต้องรู้จังหวะจะโคน การรู้จักสำรวมไม่ว่าตัวเองจะรู้มากกว่า การฟังและจับประเด็น มันคือการแสดงออกถึงความสนใจ ด้วยการมีสติ และสมาธิที่จะคิดเรื่องราวที่ฟัง ไม่ใช่ ทำอะไรหลายๆอย่างจนคุณภาพลักษณ์มันด้อยลงไป ถ้าเราแสดงออกถึงการเข้าใจเขา เราต้องฟังเขา แล้วเขาจะเริ่มฟังเรา แต่ถ้าเราอยากให้เขาเข้าใจเรา เราพูดพร่ำบ่นอธิบายนั้น คงไม่มีทางที่จะเข้าใจกันเป็นแน่

ฟังก่อนสิครับ แล้วค่อยพูด มันเป็นมารยาทที่ดี มีความสง่างามและตบะในตัว
การที่รู้เขา มันจะทำให้เข้าใจอะไรมากขึ้น เพราะส่วนมากเรารู้เราอยู้แล้ว วิธีจะเข้าใจ เริ่มต้นง่ายๆด้วยฟัง และคิดตาม ที่เหลือเดี๋ยวมันก็มาเอง

RIZฟังนะครับ

สุ จิ ปุ ลิ คือ หัวใจของบัณฑิต

1สุ ย่อมาจาก สุตตะ แปลว่าการฟัง

2จิ ย่อมาจาก จิตตะ แปลว่า การคิด

3ปุ ย่อมาจาก ปุจฉา แปลว่า การถาม

4ลิ ย่อมาจาก ลิขิต แปลว่า การเขียน

เมื่อฝึกหัวใจของบัณฑิตได้ดีแล้วนั้นเราย่อมเป็นที่รักในหมู่คณะและเพื่อนฝูง